การศึกษาในระบบ

ปรัชญาด้านการศึกษา
อบรมเสริมคนให้ครบ    ประสบธรรมอันสูงส่ง
        ปัญญาแตกฉานมั่นคง    ส่งเสริมเป็นคนจนสมบูรณ์

เซอร์เวียม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนอุร์สุลินทั่วโลก ซึ่งคุณแม่อัคราธิการ M. St. Jean Martin มอบให้นักเรียนของอุร์สุลินทุกแห่ง ในปี 1931 เซอร์เวียมควรเป็นตราประจำใจของศิษย์อุร์สุลินตลอดชีวิต

เครื่องหมายเซอร์เวียมประกอบไปด้วยไม้กางเขนและดวงดาว 7 ดวง

กางเขน หมายถึง การรณรงค์ของพระคริสตเจ้าเพื่อรับใช้มวลมนุษย์ การรับใช้ของพระเยซูคริสตเจ้าด้วยการยอมสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนนั้น นับเป็นการแสดงความรักและความเสียสละอย่างสูงสุดที่บุคคลใดจะพึงกระทำให้ผู้อื่นได้

ดวงดาว 7 ดวงบนตราเซอร์เวียม หมายถึง นักบุญอุร์สุลาองค์อุปถัมภ์ของคณะอุร์สุลิน

คติพจน์เซอร์เวียมนี้ เป็นจุดรวมของความมุ่งหวังที่ทางคณะอุร์สุลินมีต่อศิษย์ทุกคน คือต้องการจะปลูกฝังให้ศิษย์ทุกคนเลียนแบบพระคริสตเจ้าในการรับใช้พระเจ้า ประเทศชาติ และเพื่อนมนุษย์

โรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย

  • 534 ถนนเพลินจิต แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
  • โทร. 02-2526316, 02-2526524
  • เว็บไซต์. http://www.meterdei.ac.th
โรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย

Saint Anne’s Learning Centre

ได้รู้จัก คือ ได้รัก...มาแตร์เดอีวิทยาลัย: ความเป็นมาของ Saint Anne's Learning Centre

ความเป็นมาของการจัดการศึกษาพิเศษ ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย

โรงเรียนที่มิได้คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนด้วยจุดประสงค์ของการรับเฉพาะเด็กเก่งที่เรียนรู้ได้ง่าย ย่อมจะพบนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนได้เท่าเทียมเพื่อน ๆ  ตามปริมาณเวลาที่กำหนด จำนวนหนึ่งเสมอโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่ไม่ได้คัดเลือกรับนักเรียนเฉพาะที่มั่นใจว่าเรียนรู้ได้ง่ายและรวดเร็ว จึงย่อมมีนักเรียนที่ประสบปัญหาทางการเรียนมากบ้าง น้อยบ้างในแต่ละชั้นเรียนเสมอมา และสมัยก่อนองค์ความรู้เรื่องการศึกษาพิเศษยังไม่เพียงพอและเป็นที่แพร่หลาย ครูผู้สอนต้องรับภาระกับเด็ก ๆ ที่ต้องการวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่าง ครูบางคนก็สามารถหาวิธีได้ แต่ครูที่หาทางช่วยพิเศษไม่ได้ ไม่เป็น ก็ต้องปล่อยให้นักเรียนติดตามการเรียนในห้องเรียนเอาเอง แน่นอนผลการเรียนของนักเรียน ย่อมไม่ดี และแต่ก่อนยังมีการกำหนดให้มีการซ้ำชั้นเรียนได้ด้วย

การให้ความสนใจกับการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างให้นักเรียน ที่จำเป็นต้องได้รับการใส่ใจพิเศษน่าจะเกิดขึ้นประมาณ ปีการศึกษา 2530 ด้วยการที่โรงเรียนได้รับการขอความช่วยเหลือจากคุณแม่นักเรียนที่เป็นนักเรียนเก่าของโรงเรียนและพบตั้งแต่ลูกยังไม่ได้เข้าเรียนว่าลูกสาวมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน  คุณพ่อจีน แบรี่ SJ. ซึ่งในขณะนั้น ท่านเป็นอาจารย์ประจำที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์ยังไม่มีคณะจิตวิทยา) ได้ให้คำแนะนำช่วยเหลือ ท่านกล่าวว่า การศึกษาพิเศษควรจะเป็นหนึ่งในภารกิจของโรงเรียนคาทอลิก ทีมงานของคุณพ่อที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ให้ความช่วยเหลือแก่ โรงเรียนอย่างมาก คือ นักเรียนเก่ารุ่น 32  อาจารย์นิรมล ชยุตสาหกิจ อาจารย์ได้เข้ามาให้ความรู้ และคำแนะนำกับครูหลายครั้ง ทั้งในที่ประชุมรวมของครูและกับครูที่สอนเด็ก ๆ เหล่านี้ ต่อมาเมื่อจำนวนครูแนะแนวของโรงเรียนมีมากขึ้น ก็ได้เป็นทีมงานที่สำคัญในการดูแลนักเรียนที่ต้องการ การเรียนรู้ที่แตกต่าง แพทย์หญิงไอรีน ศุภางคเสน นักเรียนเก่ารุ่น 37 ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลเด็ก ได้แนะนำให้ครูแนะแนวไปศึกษาดูงานที่แผนกบำบัดของโรงพยาบาล และครูแนะแนวน่าจะเกือบทุกคนก็ได้ให้เวลาไปเรียนรู้งานที่โรงพยาบาลเด็ก ในช่วงปิดภาคฤดูร้อน นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้เชิญศึกษานิเทศก์ของ สช. มาให้คำแนะนำแก่โรงเรียนถึงระเบียบปฏิบัติในการจัดการศึกษาพิเศษด้วย

เมื่อคุณครูรุจนี กนิษฐานนท์ ซึ่งเป็นครูภาษาอังกฤษประถมศึกษาและเป็นนักเรียนเก่า รุ่น 44 ของโรงเรียนด้วย ได้ยินดีวางมือจากการสอนภาษาอังกฤษทั้งชั้นเรียน มาดูแลเฉพาะการเรียนรู้ของนักเรียน ที่มีความต้องการพิเศษ ทางโรงเรียนจึงได้จัดห้องให้คุณครูรุจนีที่อาคารประถม จัดทำเป็นศูนย์การเรียนเล็ก ๆ และตั้งชื่อว่า Saint Anne’s Learning Centre ทางซิสเตอร์และคณะครูพร้อมใจกันขอท่านนักบุญอันนา มารดา ของพระแม่มารีย์ เป็นองค์อุปถัมภ์ของศูนย์การเรียนของเด็ก ๆ ที่มีความต้อง การพิเศษของโรงเรียนช่วงที่ คุณครูรุจนี เริ่มต้นงานนี้  Sister Colleen ชาวออสเตรเลียเพื่อนของซิสเตอร์ฟรังซิส เซเวียร์ แบลล์, OSU ได้อาสามาช่วยสอนภาษาอังกฤษ และฝึกอบรมครูภาษาอังกฤษ อนุบาล และประถม ที่โรงเรียน คุณครูรุจนี ได้เรียนรู้ ปรึกษาหารือและได้คำแนะนำมากมาย จาก Sister Colleen ทั้งในด้านการสอน และการผลิตตลอดจนการใช้สื่อต่าง ๆในการกระตุ้น การเรียนรู้ของนักเรียน  คุณครูรุจนีมุ่งที่ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ และเด็ก ๆ ก็มีพัฒนาการที่ดีและรักที่จะเรียนภาษาอังกฤษ ในขณะที่ผู้อำนวยการจัดให้มีคุณครูวิชาอื่น ๆ มาร่วมดูแลนักเรียนเหล่านี้ร่วมกับครูแนะแนวในการติดตามดูแล ซึ่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมิได้มีมากมายหลายคน นอกจากนั้น ยังมีนักเรียนสองคนที่มีครูการศึกษาพิเศษมาประกบดูแลที่โรงเรียนด้วย ทั้งโรงเรียนในแต่ละปีการศึกษาจำนวนนักเรียนที่มีความต้องการการเรียนที่แตกต่าง  มีไม่ถึง 15 คน โรงเรียนมิได้เผยแพร่ประกาศรับนักเรียนที่ต้องการการศึกษาพิเศษ เพราะไม่พร้อมที่จะดูแลเป็นรายบุคคลในจำนวนที่มากได้ นักเรียนกลุ่มนี้จึงมาจากที่ผู้ปกครองติดต่อขอความช่วยเหลือมาล่วงหน้า แต่ส่วนใหญ่แล้ว คุณครูผู้สอนเด็กเล็กพบเองเมื่อเด็กเข้ามาเรียนแล้ว และเมื่อแน่ชัดแล้วว่า เด็กมีความต้องการพิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะเชิญผู้ปกครองมาปรึกษาหารือ รวมทั้งยังมีนักเรียนในระดับมัธยม ที่มีปัญหา  ทางจิตใจด้วยที่จำเป็นต้องแยกออกมาเรียนคนเดียวหรือกลุ่มเล็ก  จากห้องเรียนปกติ

เมื่อครูรุจนี เกษียณไปแล้ว การดูแลเด็กที่ต้องการการเรียนรู้ที่แตกต่าง ก็ยังคงอยู่ โดยครูทีนามารี ได้ให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ แต่ละคน และร่วมกับครูแนะแนวในการจัดทำ Individualized Educational Program (IEP) ให้นักเรียนแต่ละคน และเพิ่มครูเข้ามาช่วยสอนนักเรียนเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มย่อย  ห้องที่ใช้กับการเรียนการสอนของเด็ก ๆ เหล่านี้ กระจายอยู่ทั่วไป โดยมีห้องแนะแนวเป็นศูนย์กลาง ทำงานอย่างครบวงจรตั้งแต่การติดตามเข้าชั้นเรียนเพื่อสังเกตนักเรียนในการควบคุมตนเอง วิธีการสื่อสาร การเข้าสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน นำมาประเมิน  เพื่อเลือกวิชาเรียน คัดสรรเนื้อหา จัดตารางเวลาและการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ เพื่อปลายทางไปสู่การส่งเสริมทั้ง ด้านวิชาการและทักษะชีวิตอีกทั้งยังคำนึงถึงการตัดสิ่งเร้า จัดบรรยากาศ การสอบที่เอื้ออำนวยให้นักเรียนทำสอบได้อย่างเต็มความสามารถ ส่งเสริมและพัฒนาคุณลักษณะอันเป็นจุดเด่น ตามความถนัด นักเรียนเกิดการตระหนักเห็นคุณค่าของตนเอง พร้อมใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาตนเอง

บางครั้งสาเหตุของความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษของนักเรียนเป็นเรื่องของการป่วยทางจิตใจ ซึ่งทางห้องแนะแนวได้รับความกรุณาจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวัณเพ็ญ บุญประกอบ นักเรียนเก่า อดีตอาจารย์จิตเวชที่ศิริราช ได้กรุณาให้เวลาแก่โรงเรียนสัปดาห์ละหนึ่งวัน เมื่อท่านเกษียณอายุราชการแล้วเพื่อมาเป็นที่ปรึกษาแก่ครูแนะแนวเป็นหลัก ต่อมาอาจารย์ขอหยุดเพื่อไปช่วยเลี้ยงหลานที่ต่างประเทศ แต่เมื่อพบกับกรณีนักเรียนที่ยากเกินกำลังความรู้และประสบการณ์ ทางโรงเรียนจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก ดร.เพ็ญนี หล่อวัฒนพงษา เมื่อท่านทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลมนารมย์   ดร.เพ็ญนี เป็นศิษย์เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์พัฒนาทักษะการเรียนรู้มนารมย์ อาจารย์ได้กรุณารับติดตามดูแลนักเรียนที่ครูแนะแนวจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ นอกจากจะรับนักเรียนที่มีปัญหาเป็นคนไข้ในการดูแลของเธอแล้ว อาจารย์เพ็ญนียังได้   ช่วยโรงเรียนในการประสานงานกับผู้ปกครองและแนะนำวิธีการปฏิบัติต่อนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีความชัดเจน และมุ่งแก้ปัญหาให้ถูกวิธี  ต่อมา ดร.เพ็ญนี ได้รับงานเป็นผู้อำนวยการท่านแรกของโรงเรียนสาธิตนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2555 และป่วยถึงแก่กรรมหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ทางห้องแนะแนวก็ต้องหาที่พึ่งใหม่ จากนักเรียนเก่าที่มีความเชี่ยวชาญ 2-3 ท่าน ต่อเนื่องมาเป็นต้น แพทย์หญิงเบญจพร ตันตสูติ นักเรียนเก่ารุ่น 68 และคุณวรนันท์ ประเสริฐ-เมธ นักเรียนเก่ารุ่น 57

ในปีการศึกษา 2562 ทางคณะซิสเตอร์จัดให้มีการซ่อมแซม  บ้านศูนย์กลางของคณะฯ ด้วยความจำเป็นที่ระบบน้ำ และไฟฟ้ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลาเกิน 10 ปี เมื่อทางโรงเรียนขออธิการเจ้าคณะภาค ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่ คณะซิสเตอร์จะให้ทางโรงเรียนใช้ชั้นล่างของอาคาร 4 ชั้น ของบ้านนักบุญอัญจลาซึ่งเป็นบ้านศูนย์กลางของคณะอุร์สุลินในประเทศไทย  เป็น Saint Anne’s Learning Centre ของโรงเรียน   ซิสเตอร์ทิพย์กนก ประสพโชคชัย อธิการเจ้าคณะภาค ก็ได้รับคำขอของทางโรงเรียนไปพิจารณาในคณะฯ และคำตอบว่า ยินดีให้ใช้ ก็ได้กลับมาที่โรงเรียนอย่างไม่นานเกินรอ

คุณวันทนี หวังบุญสกุล มัณฑนากร ที่ได้ทำงานช่วยเหลือโรงเรียนในการออกแบบปรับปรุงห้องต่างๆ มายาวนาน ตั้งแต่ลูกสาวยังเรียนอยู่ที่โรงเรียน จนกระทั่งลูกสาวเรียนจบและทำงานเป็นมัณฑนากรเหมือนคุณแม่แล้ว ก็ได้อาสาออกแบบให้ โดยเข้ามาคุยกับทางโรงเรียน ถึงความต้องการห้องเรียนต่าง ๆ คุณวิภา เจียกเจิม สถาปนิกนักเรียนเก่าที่กำลังช่วยงานในโครงการจัดภูมิทัศน์เพื่อการเรียนรู้ใหม่และการก่อสร้างอาคารเรียนปฐมวัย ได้รับงานส่วนนี้ไปให้ทีมงานที่ทำงานหลักให้โรงเรียน  เข้าช่วยทำงานหลายส่วน

Saint Anne’s Learning Centre จึงมีความพร้อมที่จะเป็นบ้านน้อยๆ ที่มีห้องเรียนขนาดเล็ก ๆ 4- 5 ห้อง ห้องประชุม ห้องเรียนศิลปะ และ ห้องเรียนประกอบอาหาร อยู่ภายในบ้านหลังใหญ่ที่เป็นบ้านที่สองของนักเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย นับตั้งแต่วันฉลองนักบุญอันนา 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป    

บันทึกคณะครูแนะแนว

Imperfect perfection การมีเอกลักษณ์ของแต่ละคน คือความสมบูรณ์แบบที่สุด แม้ว่าจะมีการเปรียบเทียบให้เข้าใจไปว่านักเรียนบางคนนั้นมีความไม่สมบูรณ์แบบ แต่โอกาสในการดูแลนักเรียนพิเศษทุกคนเป็นการเปิดโลกทัศน์ในการเรียนรู้ คณะครูแนะแนวรู้สึกเป็นเกียรติตั้งแต่แรกที่ได้รับความไว้วางใจจากคุณพ่อคุณแม่ในการให้พื้นที่คุณครูแนะแนวได้ร่วมรับฟังการแบ่งปันข้อมูลเพื่อการปรึกษาหารือร่วมกันในเครือข่ายคุณแม่นักเรียนพิเศษ

เมื่อประสานความร่วมมือกับคุณครูผู้สอน ทีมงานคุณภาพที่น่าชื่นชม รับรู้ชัดเจนถึงการยินดีเสียสละเวลา ทุ่มเท ให้ความเมตตา ห่วงใย เอาใจใส่ ให้กำลังใจนักเรียน คุณครูแต่ละท่านเข้าใจในความแตกต่างของนักเรียน มีความยืดหยุ่นในการสอน ใช้สื่อการสอนและการประเมินผลที่หลากหลาย ครูแนะแนวจึงไม่ละความพยายามตั้งแต่การเลือกวิชาเรียน คัดสรรเนื้อหา จัดตารางเวลาและการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นรายบุคคลอยู่เสมอ เพื่อปลายทางไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตให้กับนักเรียน 

การได้รับฟังการชี้แนะแนวทางจากคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ ถึงวิธีการสังเกตนักเรียน การติดตามเข้าชั้นเรียน การควบคุมตนเอง การสื่อสาร การเข้าสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การตัดสิ่งเร้าและ จัดบรรยากาศการสอบที่เอื้ออำนวยให้นักเรียนทำสอบได้อย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงด้านอื่นๆ ตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงระดับชั้นมัธยมที่พัฒนาขึ้นตามลำดับจนสามารถค้นพบ ส่งเสริมและพัฒนาคุณลักษณะอันเป็นจุดเด่น ตามความถนัด ความสามารถ นักเรียนเกิดการตระหนักเห็นคุณค่าของตนเอง การใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่และมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาตนเอง

การทำงานกับนักเรียนพิเศษไม่ใช่การให้การช่วยเหลือนักเรียนแต่เป็นการขอบคุณโอกาสที่พระได้มอบให้ครูแนะแนวได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงอันล้ำค่า ความอดทนที่ท้าทาย การวางแผนสู่เป้าหมายที่สนุกและสร้างสรรค์เกินกว่าที่จะหาอ่านจากตำราวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว  เมื่อนักเรียนมีรอยยิ้ม แววตามีความพึงพอใจในผลงานของตนเอง เพื่อน ๆยอมรับถึงความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์ ครูได้พบมุมมองที่น่ารักและชวนให้ประทับใจเป็นพิเศษ นำมาซึ่งความอิ่มเอมใจ  ในการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ประคับประคอง สู่การเติบโตอันงดงามของนักเรียน 

ขอบคุณที่ครูมีโอกาสได้รู้จักนักเรียนผู้มีความเพียร แม้สายตาเลือนลางแต่มีความวิริยะในเส้นทางการศึกษาจนจบปริญญาโทในต่างประเทศ

ขอบคุณที่ครูมีโอกาสได้ติดตามอ่านเรื่องราวการต่อสู้ที่เข้มแข็งจากการเข้ารับการผ่าตัดนับครั้งไม่ถ้วน และมักจะส่งถ้อยคำข้อความไพเราะเป็นพิเศษจากความสามารถในการประพันธ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาในโอกาสต่างๆ

ขอบคุณที่ครูมีโอกาสได้สนุกและเรียนรู้หลักการ วิธีการดูแลด้วยความเข้าใจในธรรมชาติและการเคลื่อนไหวของสารพัดสัตว์เลี้ยงนานาชนิด

ขอบคุณที่มีคำชมให้ครูชื่นใจเสมอว่า เสียงของครูไพเราะเมื่อครูอ่านออกเสียงข้อสอบภาษาไทยและชมให้ครูตัวลอยขึ้นไปอีกว่า ครูอ่านภาษาอังกฤษสำเนียงดีกว่าคุณครูฝรั่ง เพราะหนูฟังสำเนียงอังกฤษกระท่อนกระแท่นของครูรู้เรื่อง

ขอบคุณสำหรับการห่วงใยยามพวกครูเจ็บป่วย อบรมวิธีการรักษาสุขภาพให้ครูดูแลตัวเองให้ดีและติดตามคอยถามไถ่อาการอยู่เสมอ

ขอบคุณที่ครูมีโอกาสได้เป็นนางแบบของตากล้องผู้มีมุมมองพิเศษ แสงเงาที่เลือกให้ช่วยให้ครูสวยได้ไม่แพ้นางแบบมืออาชีพเลยทีเดียว                                           

26 กรกฎาคม 2564

โรงเรียนวาสุเทวี

โรงเรียนวาสุเทวี

โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย

โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย
โรงเรียนปิยมาตย์

โรงเรียนปิยมาตย์

  • 20 หมู่ 12 ถนนพะเยา – วังเหนือ ตำบลแม่นาเรือ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 56000
  • โทร. 054-889135
  • Facebook https://www.facebook.com/piyamartschool
thThai